BG-04

CHIANGMAI BOXING STADIUM

EVERY Mon / Tue / Wed / Thu / Fri / Sat
Start 09.00 - 11.30 PM

ถนนโชตนา (ย่านสันติธรรม)
Chotana Rd. (Santitham)
ซอยโรงแรมเมอร์เคียว
Near Mercure Hotel

Ticket

Grandstand 600 ฿
Ringside 1,000 ฿
V.I.P. Extra 1,500 ฿

Book Now!

Slide background
Slide background
Slide background

          ความเป็นมาของมวยไทย มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในเชิงกีฬาและการต่อสู้จริง ๆศิลปะประเภท นี้มีมาแต่โบราณกาล บรรพบุรุษของชาติไทยได้ฝึกฝนอบรมสั่งสอนกุลบุตรไว้เพื่อป้องกันตัวและชาติ บรรดาชายฉกรรจ์ของไทยได้รับการฝึกฝน วิชามวยไทยแทบทุกคน นักรบผู้กระเดื่องนามทุกคนต้องได้รับการฝึกฝนอบรมศิลปะประเภทนี้อย่างจัดเจนทั้งสิ้น เพราะการใช้อาวุธในสมัยโบราณ เช่น กระบี่ พลอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ ถ้ามีความรู้วิชามวยไทยประกอบด้วยแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เข้าต่อสู้ติดพันประชิดตัว ก็จะได้อาศัยใช้อวัยวะบางส่วนเข้าช่วยเช่น เข่า เท้า ศอก เป็นต้นแต่เดิมมาศิลปะมวยไทยที่มีชั้นเชิงสูงมักจะฝึกสอนกันในบรรดาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หรือเฉพาะพระมหากษัตริย์และขุนนางฝ่ายทหารเท่านั้น ต่อมาจึงได้แพร่หลายไปถึงสามัญชนซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิทยาการจากบรรดา

          The history of Muay Thai Muay Thai is a martial art that can be used in both sports and martial arts, this is a really ancient. Ancestors of Thailand have practiced good son to teach self-defense and national. Those men were trained in Thailand. Virtually all of boxing Braves celebrated as everyone must be trained, experienced this type of art. The weapon used in ancient times as Krabi Long Sword halberd javelin, etc. If there is knowledge of boxing and will contain the most useful. Especially when courted melee combat. It has relied on the help of some organs, such as the knees, elbows, feet, etc., originally a tactic often high art boxing trainer in the master class adults. Or only the kings and nobles, the military only. Later, it spread to the common people, who have inherited from the science.

กติกามวยไทย

กติกามวยไทย ประกอบระเบียบคณะกรรมการกีฬามวยว่าด้วยระเบียบและกติกาสำหรับการแข่งขันมวย พ.ศ.๒๕๔๕

กติกาข้อที่ ๑ เวที สังเวียน

ในการแข่งขันทั่วๆไป เวที สังเวียนใช้ในการแข่งขันกำหนด ดังต่อไปนี้

๑.๑ เวทีคือสถานที่ที่ประกอบขึ้นเพื่อใช้ในการแข่งขันมวยโดยสร้างให้แข็งแรงปลอดภัยได้ระดับปราศจากสิ่งกีดขวางใดๆ และพื้นเวทีต้องยื่นออกไปนอกเชือกกั้นอย่างน้อย ๙๐ เซนติเมตร

๑.๒ พื้นเวทีต้องอยู่สูงจากพื้นตั้งไม่ต่ำกว่า ๑.๒๐ เมตร และไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร โดยตั้งเสามุมทั้ง ๔ ด้าน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ – ๑๒.๕ เซนติเมตร และสูงขึ้นจากพื้นที่ตั้งไม่เกิน ๒.๘๕ เมตร พื้นที่เวทีต้องปูด้วยวัสดุที่มีความนุ่ม เช่น ยาง ผ้าอ่อน ฟองน้ำ หรือวัสดุอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีความหนา ระหว่าง ๒.๕๐ เซนติเมตร ถึง ๓.๗๕ เซนติเมตร ปูทับด้วยผ้าใบให้ตึงเรียบและมิดชิดคลุมพื้นเวทีทั้งหมด

๑.๓ ในการติดตั้งเวทีต้องให้มุมแดงอยู่ด้านซ้ายมือของโต๊ะประธานผู้ตัดสิน มุมน้ำเงินอยู่ตรงข้ามกับมุมแดง ส่วนอีกสองมุมเป็นมุมกลาง

๑.๔ เชือกกั้นเวทีมี ๔ เส้น หุ้มด้วยวัสดุที่อ่อนนุ่มและเรียบ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ – ๕ เซนติเมตร ขึงตึงกับเสาทั้งสี่ของเวที เชือกแต่ละเส้นสูงจากพื้นเวทีขึ้นไปถึงด้านบนของเชือก เส้นล่าง ๔๕ เซนติเมตร
เส้นที่ ๒ เท่ากับ ๗๕ เซนติเมตร เส้นที่ ๓ เท่ากับ ๑.๐๕ เมตร และเชือกเส้นบนสูงสุดเท่ากับ ๑.๓๕ เมตร ตามลำดับ เชือกทั้งสี่เส้นของแต่ละด้านต้องผูกยึดกันด้วยผ้าเหนียว ๒ ชิ้น มีขนาดกว้าง ๓ – ๔ เซนติเมตร มีระยะห่างเท่าๆกัน ผ้าที่ผูกนั้นต้องยึดแน่น มุมทั้งสี่ต้องหุ้มนวมหรือวัสดุอื่นให้เรียบร้อย สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่นักมวย ต้องมีบันไดที่มุมแดง และมุมน้ำเงินเพื่อให้นักมวยพี่เลี้ยงผู้ชี้ขาด และแพทย์สนามขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่

๑.๕ ให้ติดกล่องพลาสติกหรือกล่องที่ทำด้วยวัสดุอย่างอื่นที่มุมกลางทั้งสองมุม (ด้านนอกสังเวียน) มุมละ ๑ กล่อง เพื่อให้ผู้ชี้ขาดทิ้งสำลี หรือสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว

๑.๖ สังเวียน คือ พื้นที่ส่วนหนึ่งของเวทีเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยวัดจากภายในเชือกกั้น ขนาดเล็ก มีความยาว ด้านละ ๖.๐๐ เมตร ขนาดใหญ่ มีความยาวด้านละ ๖.๕๐ เมตร

กติกาข้อที่ ๒ อุปกรณ์เวทีที่ใช้สำหรับการจัดการแข่งขัน

๒.๑ ที่นั่งสำหรับนักมวย ๒ ที่

๒.๒ อุปกรณ์ถูพื้นสำหรับทำความสะอาดเวที และที่เช็ดเท้า

๒.๓ ขวดน้ำสำหรับดื่ม ๒ ขวด และขวดน้ำชนิดพ่นฝอย ๒ ขวด

๒.๔ ผ้าเช็ดตัว ๒ ผืน

๒.๕ น้ำ ๒ ถัง

๒.๖ โต๊ะและเก้าอี้สำหรับเจ้าหน้าที่

๒.๗ ระฆัง ๑ ใบ

๒.๘ นาฬิกาจับเวลาชนิดกดหยุดได้ ๑ หรือ ๒ เรือน

๒.๙ ใบบันทึกคะแนน

๒.๑๐ กล่องใส่กุญแจสำหรับเก็บใบบันทึกคะแนน

๒.๑๑ ป้ายบอก ยก – เวลา – คู่ จำนวน ๑ ชุด

๒.๑๒ นวม ๒ คู่

๒.๑๓ กางเกงนักมวยสีแดง และสีน้ำเงิน อย่างละ ๑ ตัว

๒.๑๔ กระจับหรือเครื่องป้องกันอวัยวะเพศ ๒ อัน

๒.๑๕ ฉากบังตา ๒ อัน สำหรับใช้ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระจับ หรือเครื่องป้องกันอวัยวะเพศหลุด

๒.๑๖ เปลหามคนเจ็บ ๑ ชุด

๒.๑๗ กรรไกรปลายมน ๑ เล่ม

๒.๑๘ อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการแข่งขัน เช่น เครื่องขยายเสียงพร้อมไมโครโฟน เป็นต้น

กติกาข้อที่ ๓ นวม

๓.๑ นวมที่ใช้ในการแข่งขัน โดยส่วนที่เป็นหนังของนวมต้องหนักไม่เกินครึ่งหนึ่งของน้ำหนักนวมทั้งหมด และส่วนของไส้นวมต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของน้ำหนักนวมทั้งหมด ไส้นวมต้องไม่ถูกกระทำให้เปลี่ยนรูปหรือถูกบดขยี้ให้กระจายไปจากรูปเดิม

๓.๒ ในการแข่งขัน นักมวยต้องใช้นวมที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งนายสนามมวย หรือผู้จัดรายการแข่งขันมวยจัดไว้เท่านั้น

๓.๓ ขนาดของนวมที่ใช้ในการแข่งขันกำหนดดังนี้

๓.๓.๑ นักมวยตั้งแต่รุ่นมินิฟลายเวทถึงรุ่นเฟเธอร์เวทต้องใช้นวมขนาด ๖ ออนซ์ (๑๓๒ กรัม)

๓.๓.๒ นักมวยตั้งแต่รุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวทถึงรุ่นเวลเตอร์เวทต้องใช้นวมขนาด ๘ ออนซ์ (๒๒๗ กรัม)

๓.๓.๓ นักมวยตั้งแต่รุ่นซูเปอร์เวลเตอร์เวทขึ้นไปต้องใช้นวมขนาด ๑๐ ออนซ์ (๒๘๔ กรัม)

๓.๔ การผูกเชือกนวม ให้ขมวดปมเชือกไว้ด้านหลังของข้อมือ การสวมนวมต้องได้รับการตรวจและประทับตราจากเจ้าหน้าที่ตรวจนวมที่ได้รับมอบหมายซึ่งจะต้องดูแลควบคุมการสวมนวมเพื่อให้แน่ใจว่า นักมวยปฏิบัติถูกต้องตามกติกาจนกระทั่งนักมวยขึ้นสู่เวที

กติกาข้อที่ ๔ ผ้าพันมือ

๔.๑ ในการแข่งขันนักมวยต้องพันมือด้วยผ้าพันมืออย่างอ่อนยาวข้างละไม่เกิน ๖ เมตร กว้างไม่เกิน ๕ เซนติเมตร

๔.๒ ในการแข่งขันนักมวยอาจใช้พลาสเตอร์ หรือแถบกาวยางยาวข้างละไม่เกิน ๒.๕ เมตร กว้าง ๒.๕ เซนติเมตร ปิดทับข้อมือ หรือหลังมือ ห้ามพันทับสันหมัดโดยเด็ดขาด

๔.๓ ในการแข่งขัน นักมวยต้องใช้ผ้าพันมือที่นายสนามมวย หรือผู้จัดรายการแข่งขันมวยจัดไว้เท่านั้น ห้ามใช้ผ้าพันมืออื่นนอกเหนือจากที่จัดไว้โดยเด็ดขาด

๔.๔ การพันมือ ต้องได้รับการตรวจและประทับตราจากเจ้าหน้าที่เพื่อรับรองว่าเป็นไปตามข้อกำหนดแล้ว จึงให้สวมนวมได้

กติกาข้อที่ ๕ เครื่องแต่งกาย

๕.๑ การแต่งกายของนักมวย

๕.๑.๑ สวมกางเกงขาสั้นเพียงครึ่งโคนเข่าให้เรียบร้อย ไม่สวมเสื้อ และรองเท้า นักมวยมุมแดง ใช้กางเกง สีแดง สีชมพู หรือสีขาว นักมวยมุมน้ำเงินใช้กางเกงสีน้ำเงิน สีกรมท่าหรือสีดำ

๕.๑.๒ ต้องสวมกระจับหรือเครื่องป้องกันที่ทำขึ้นจากวัสดุแข็งแรงคลุมอวัยะเพศ สามารถป้องกันอันตราย จากเข่า หรืออวัยวะอื่น โดยผูกปมเชือกไว้ด้านหลังด้วยเงื่อนตาย เก็บปลายเชือกส่วนที่เหลือให้เรียบร้อย

๕.๑.๓ ไม่ไว้ผมยาวรุงรัง และไว้เครา อนุญาตให้ไว้หนวดได้แต่ต้องยาวไม่เกินริมฝีปาก

๕.๑.๔ เล็บมือและเล็บเท้าต้องตัดสั้นให้เรียบร้อย

๕.๑.๕ ต้องสวมมงคลเฉพาะเวลาไหว้ครูก่อนการแข่งขัน ส่วนระหว่างการแข่งขันอนุญาตให้ผูกผ้าประเจียด (ชายผ้าประเจียดยาวไม่เกิน ๕ นิ้ว) เครื่องราง หรือตะกรุดที่โคนแขน หรือที่เอวได้ แต่ต้องหุ้มผ้าให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันอันตราย

๕.๑.๖ ให้ใช้สนับรัดข้อเท้าได้ข้างละ ๑ อัน ความยาวต้องไม่เกินครึ่งหนึ่งของหน้าแข้ง ห้ามเลื่อนขึ้นไปเป็นสนับแข้ง พับหรือม้วนลงมา ห้ามใช้ผ้ารัดขาและข้อเท้า

๕.๑.๗ ห้ามใช้เข็มขัดหรือเครื่องประดับที่เป็นวัสดุที่ทำให้เกิดอันตราย

๕.๑.๘ ห้ามใช้น้ำมันวาสลิน น้ำมันร้อน ไขสมุนไพร หรือสิ่งอื่นทาร่างกายและนวม

๕.๑.๙ ต้องใส่ฟันยาง (สนับฟัน)

๕.๒ การละเมิดเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย

๕.๒.๑ เครื่องแต่งกายอื่นๆ ที่มิได้ระบุไว้ในข้อ ๕.๑ ต้องเอาออกก่อนไหว้ครู

๕.๒.๒ ในกรณีที่นักมวยแต่งกายไม่สะอาด หรือไม่ถูกต้อง ให้ผู้ชี้ขาดมีอำนาจสั่งแก้ไข

กติกาข้อที่ ๖ การจำแนกรุ่นและการชั่งน้ำหนักตัว

๖.๑ การจำแนกรุ่น และกำหนดน้ำหนักตัวที่ใช้ในการแข่งขัน

๖.๑.๑ รุ่นมินิฟลายเวท น้ำหนักตัวตั้งแต่ ๑๐๐ ปอนด์ (๔๕.๓๕๑ กก.) และไม่เกิน ๑๐๕ ปอนด์ (๔๗.๖๑๙ กก.)

๖.๑.๒ รุ่นไลท์ฟลายเวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๐๕ ปอนด์ (๔๗.๖๑๙ กก.) และไม่เกิน ๑๐๘ ปอนด์ (๔๘.๙๗๙ กก.)

๖.๑.๓ รุ่นฟลายเวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๐๘ ปอนด์ (๔๘.๙๗๙กก.) และไม่เกิน ๑๑๒ ปอนด์ (๕๐.๗๙๓ กก.)

๖.๑.๔ รุ่นซูเปอร์ฟลายเวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๑๒ ปอนด์ (๕๐.๗๙๓ กก.) และไม่เกิน ๑๑๕ ปอนด์ (๕๒.๑๕๔)

๖.๑.๕ รุ่นแบบตั้มเวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๑๕ ปอนด์ (๕๒.๑๕๔ กก.) และไม่เกิน ๑๑๘ ปอนด์
(๕๓.๕๑๔ กก.)

๖.๑.๖ รุ่นซูเปอร์แบนตั้มเวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๑๘ ปอนด์ (๕๓.๕๑๔ กก.) และไม่เกิน ๑๒๒ ปอนด์ (๕๕.๓๒๘ กก.)

๖.๑.๗ รุ่นเฟเธอร์เวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๒๒ ปอนด์ (๕๕.๓๒๘ กก.) และไม่เกิน ๑๒๖ ปอนด์ (๕๗.๑๔๒ กก.)

๖.๑.๘ รุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๒๖ ปอนด์ (๕๗.๑๔๒ กก.) และไม่เกิน ๑๓๐ ปอนด์ (๕๘.๙๕๖ กก.)

๖.๑.๙ รุ่นไลท์เวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๓๐ ปอนด์ (๕๘.๙๕๖ กก.) และไม่เกิน ๑๓๕ ปอนด์ (๖๑.๒๒๔ กก.)

๖.๑.๑๐ รุ่นซูเปอร์ไลท์เวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๓๕ ปอนด์ (๖๑.๒๒๔ กก.) และไม่เกิน ๑๔๐ ปอนด์ (๖๓.๔๙๒ กก.)

๖.๑.๑๑ รุ่นเวลเตอร์เวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๔๐ ปอนด์ (๖๓.๔๙๒ กก.) และไม่เกิน ๑๔๗ ปอนด์ (๖๖.๖๖๖ กก.)

๖.๑.๑๒ รุ่นซูเปอร์เวลเตอร์เวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๔๗ ปอนด์ (๖๖.๖๖๖ กก.) และไม่เกิน ๑๕๔ (๖๙.๘๔๑ กก.)

๖.๑.๑๓ รุ่นมิดเดิลเวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๕๔ ปอนด์ (๖๙.๘๔๑ กก.) และไม่เกิน ๑๖๐ ปอนด์ (๗๒.๕๖๒ กก.)

๖.๑.๑๔ รุ่นซูเปอร์มิดเดิลเวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๖๐ ปอนด์ (๗๒.๕๒๖ กก.) และไม่เกิน ๑๖๘ ปอนด์ (๗๖.๑๙๐ กก.)

๖.๑.๑๕ รุ่นไลท์เฮฟวี่เวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๖๘ ปอนด์ (๗๖.๑๙๐ กก.) และไม่เกิน ๑๗๕ ปอนด์ (๗๙.๓๖๕ กก.)

๖.๑.๑๖ รุ่นครุยเชอร์เวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๗๕ ปอนด์ (๗๙.๓๖๕ กก.) และไม่เกิน ๑๙๐ ปอนด์ (๗๙.๓๖๕ กก.)

๖.๑.๑๗ รุ่นเฮฟวี่เวท น้ำหนักตัวต้องเกิน ๑๙๐ ปอนด์ขึ้นไป (๘๖.๑๖๗ กก.ขึ้นไป)

๖.๒ การชั่งน้ำหนักตัว

๖.๒.๑ นักมวยต้องชั่งน้ำหนักตัวโดยปราศจากเครื่องแต่งกาย หรือสวมกางเกงชั้นในที่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก ในวันแข่งขันภายใน ๐๘.๐๐ – ๑๐.๐๐ น. นายสนามมวยอาจเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้หากมีเหตุผลที่เหมาะสม

๖.๒.๒ ก่อนชั่งน้ำหนักตัว นักมวยต้องได้รับการตรวจจากแพทย์และได้รับการรับรองว่ามีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์

๖.๒.๓ ให้หัวหน้าค่ายมวย ผู้จัดการหรือผู้แทนของนักมวยทั้งสองฝ่ายมีสิทธิร่วมตรวจสอบการชั่งน้ำหนักตัว

๖.๓ ข้อกำหนดในการชั่งน้ำหนักตัว

๖.๓.๑ นักมวยต้องมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ ๑๐๐ ปอนด์ขึ้นไป

๖.๓.๒ นักมวยคู่แข่งขัน จะแข่งขันกันได้ต้องมีน้ำหนักตัวต่างกันไม่เกิน ๕ ปอนด์ ยกเว้น รุ่นเฮฟวี่เวท

๖.๓.๓ นักมวยจะต้องมีเวลาพักหลังจากผ่านการชั่งน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง จึงจะทำการแข่งขันได้

กติกาข้อที่ ๗ การไหว้ครูและจำนวนยก

๗.๑ การไหว้ครู ก่อนเริ่มการแข่งขันนักมวยต้องร่ายรำไหว้ครูตามศิลปะประเพณีทุกคน โดยมีปี่ชวา กลองแขกตัวผู้และกลองแขกตัวเมีย และฉิ่งจับจังหวะ บรรเลง เมื่อนักมวยไหว้ครูเสร็จแล้ว จึงให้เริ่มการแข่งขัน

๗.๒ จำนวนยกที่เป็นมาตรฐานมวยไทย กำหนดให้แข่งขัน ๕ ยก ยกละ ๓ นาที หยุดพักระหว่างยก ๒ นาที การหยุดการแข่งขันเพื่อเตือนอย่างเป็นทางการ ตัดคะแนน จัดเครื่องแต่งกายของนักมวยให้เรียบร้อย หรือด้วยเหตุอื่นๆ ไม่นับรวมอยู่ในเวลาแข่งขันของแต่ละยก

กติกาข้อที่ ๘ นักมวยต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

๘.๑ อายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปีบริบูรณ์

๘.๒ น้ำหนักตัวตั้งแต่ ๑๐๐ ปอนด์

๘.๓ ไม่เป็นโรคที่ต้องห้ามตามที่ระบุไว้ในคู่มือแพทย์

กติกาข้อที่ ๙ พี่เลี้ยง

ในการแข่งขันทั่วๆไป นักมวยแต่ละฝ่ายให้มีพี่เลี้ยงได้ ๒ คนและต้องแจ้งให้ผู้ชี้ขาดทราบก่อนการแข่งขันเริ่มขึ้นว่าพี่เลี้ยงคนใดเป็นหัวหน้าพี่เลี้ยง เว้นแต่ในกรณีการแข่งขันเพื่อชิงแชมเปี้ยน ให้มีพี่เลี้ยงได้ฝ่ายละ ๓ คน และระหว่างพักยกให้พี่เลี้ยงเข้าไปในสังเวียนได้ ๒ คน
หน้าที่พี่เลี้ยง

๙.๑ พี่เลี้ยงจะแนะนำ ช่วยเหลือ หรือส่งเสริมนักมวยในระหว่างการแข่งขันไม่ได้ พี่เลี้ยงที่กระทำผิดกติกา ให้ผู้ชี้ขาดตักเตือน ตัดคะแนน หรือสั่งให้ออกหน้าที่

๙.๒ ในระหว่างการแข่งขันพี่เลี้ยงจะต้องอยู่ ณ ที่นั่งของตน ก่อนเริ่มการแข่งขันในแต่ละยกให้พี่เลี้ยงนำผ้าเช็ดตัว ขวดน้ำ และอุปกรณ์อื่นๆ ออกไปจากขอบเวที

๙.๓ ระหว่างพักยก พี่เลี้ยงต้องตรวจดูเครื่องแต่งกายของนักมวยให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย พร้อมแข่งขัน ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น พี่เลี้ยงจะต้องแจ้งให้ผู้ชี้ขาดทราบเพื่อแก้ไขโดยด่วน

๙.๔ การให้น้ำนักมวย พี่เลี้ยงต้องไม่ทำให้พื้นเวทีเปียก และต้องเช็ดตัวนักมวยให้แห้ง

๙.๕ ห้ามพี่เลี้ยงใช้วาจาไม่สุภาพหรือทำร้ายนักมวย ระหว่างการแข่งขันและภายหลังการแข่งขัน

๙.๖ พี่เลี้ยงต้องสวมเสื้อแสดงสัญลักษณ์ค่ายมวยของตน และแขวนบัตรแสดงสถานะพี่เลี้ยง

๙.๗ พี่เลี้ยงอาจจัดอุปกรณ์ เครื่องมือ และเวชภัณฑ์ส่วนตัวไว้ที่มุมได้ดังนี้

๙.๗.๑ น้ำ

๙.๗.๒ น้ำแข็ง

๙.๗.๓ ผ้าเช็ดตัว

๙.๗.๔ แอดรีนาลีน ๑/๑๐๐๐ หรือสารอื่นที่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์สนาม

๙.๗.๕ ผ้าก๊อซปิดแผล

๙.๗.๖ ไม้ปุ่มสำลี

๙.๗.๗ กรรไกรปลายมน

๙.๗.๘ เทปปิดแผล

๙.๗.๙ สำลีแผ่น หรือผ้าปิดแผลแบบนุ่ม

๙.๘ หัวหน้าพี่เลี้ยงจะยอมแพ้แทนนักมวยได้ โดยการขึ้นไปบนเวทีและแจ้งให้ผู้ชี้ขาดทราบเท่านั้น ห้ามโยนฟองน้ำหรือผ้าเช็ดตัว เข้าไปในสังเวียน

กติกาข้อที่ ๑๐ ผู้ชี้ขาด

ผู้ชี้ขาดต้องแต่งกายด้วยกางเกงขายาวสีน้ำเงิน หรือสีดำ เสื้อเชิ้ต หรือเสื้อยืดสีน้ำเงินหรือสีที่สุภาพ ติดเครื่องหมายของคณะกรรมการกีฬามวยที่อกเสื้อด้านขวา และติดเครื่องหมายของสนามมวยต้นสังกัดที่อกเสื้อด้านซ้ายได้ สวมรองเท้าหุ้มข้อสีดำชนิดเบาพื้นเรียบและไม่มีส้น ไม่สวมแว่นตาหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะ เล็บมือตัดเรียบสั้น ไม่ไว้ผมยาวรุงรังและไว้เคราไว้หนวดได้ แต่ต้องไม่ยาวเกินริมฝีปาก

๑๐.๑ หน้าที่ผู้ชี้ขาด ต้องปฏิบัติดังนี้

๑๐.๑.๑ ระมัดระวังดูแล และป้องกันนักมวยที่อ่อนแอกว่าไม่ให้ได้รับความบอบช้ำ เกินควร

๑๐.๑.๒ รักษากติกาและความเป็นธรรมอย่างเคร่งครัด

๑๐.๑.๓ ควบคุมการแข่งขันอย่างใกล้ชิดทุกระยะ

๑๐.๑.๔ ตรวจนวม เครื่องแต่งกาย และฟันยางของนักมวย

๑๐.๑.๕ ใช้คำสั่ง ๓ คำ คือ

“หยุด” เมื่อสั่งให้นักมวยหยุดชก

“แยก” เมื่อสั่งให้นักมวยแยกออกจากกัน กรณีที่ผู้ชี้ขาดสั่ง “แยก” นักมวยทั้งสองต้องถอยหลังออกมาอย่างน้อย ๑ ก้าว

“ชก” เมื่อสั่งให้นักมวยชก

๑๐.๑.๖ แสดงสัญญาณที่ถูกต้องเพื่อให้นักมวยที่ทำผิดกติกาทราบถึงความผิด

๑๐.๑.๗ เมื่อมีการกระทำผิดกติกาจนผู้ชี้ขาดปรับนักมวยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายแพ้ หรือยุติการแข่งขัน หลังจากประกาศให้ผู้ชมทราบแล้วจะต้องแจ้งเหตุผลให้ประธานผู้ตัดสินทราบ

๑๐.๑.๘ ไม่ปล่อยให้นักมวยที่ทำผิดกติกาเป็นฝ่ายได้เปรียบ เช่น จับเชือกเตะ จับเชือกตีเข่า
เป็นต้น

๑๐.๑.๙ ไม่มีการกระทำใดๆ ที่ให้คุณให้โทษ แก่นักมวยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น นับช้า – นับเร็ว เตือน – ไม่เตือน เป็นต้น อันมีผลต่อการได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

๑๐.๑.๑๐ เมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน ต้องรวบรวมใบบันทึกคะแนนของผู้ให้คะแนนทั้ง ๓ คน ชี้มุมผู้ชนะตามคะแนนเสียงข้างมาก แล้วชูมือนักมวยผู้ชนะขึ้น ในกรณีเสมอให้ผู้ชี้ขาดชูมือนักมวยทั้งคู่ขึ้นพร้อมกัน แล้วนำใบบันทึกคะแนนทั้งหมดให้ประธานผู้ตัดสินตรวจสอบ

๑๐.๑.๑๑ ไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือให้สัมภาษณ์ถึงผลการแข่งขันที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้ว เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากประธานผู้ตัดสิน

๑๐.๒ อำนาจผู้ชี้ขาด

๑๐.๒.๑ ยุติการแข่งขัน เมื่อเห็นว่านักมวยฝ่ายหนึ่งฝีมือเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งมาก หรือกระทำอยู่ฝ่ายเดียว

๑๐.๒.๒ ยุติการแข่งขัน เมื่อเห็นว่านักมวยบาดเจ็บจนไม่สามารถจะทำการแข่งขันต่อไปได้

๑๐.๒.๓ หยุดการแข่งขันเมื่อเห็นว่านักมวยบาดเจ็บ ผู้ชี้ขาดอาจจะหารือแพทย์สนามก็ได้ เมื่อหารือแล้วผู้ชี้ขาดต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ

๑๐.๒.๔ ยุติการแข่งขันเมื่อเห็นว่านักมวยไม่แข่งขันกันจริงจัง ในกรณีเช่นนี้อาจให้นักมวยคนหนึ่งหรือทั้งสองคนออกจากการแข่งขันโดยไม่มีการตัดสิน

๑๐.๒.๕ หยุดการนับเมื่อคู่ชกไม่ไปยังมุมกลางที่ไกลที่สุด หรือออกมาจากมุมก่อนนับครบตามกำหนด

๑๐.๒.๖ หยุดการแข่งขัน เพื่อเตือน ตัดคะแนนนักมวยที่ทำผิดกติกา หรือด้วยเหตุผลอื่น เพื่อความยุติธรรมหรือเพื่อให้ปฏิบัติตามกติกา

๑๐.๒.๗ นักมวยที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือทำร้าย หรือก้าวร้าวผู้ชี้ขาดปรับให้เป็นฝ่ายแพ้หรือไม่มีการตัดสิน

๑๐.๒.๘ สั่งพี่เลี้ยงที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือทำผิดกติกาออกจากหน้าที่ หรือปรับให้นักมวยเป็นฝ่ายแพ้หรือไม่มีการตัดสิน

๑๐.๒.๙ นักมวยที่ทำผิดกติกาอย่างร้ายแรงปรับให้เป็นฝ่ายแพ้ หรือไม่มีการตัดสินหลังจากการเตือน หรือตัดคะแนน หรือแม้ยังไม่ได้ทำการเตือน หรือตัดคะแนนมาก่อน

๑๐.๒.๑๐ การตัดคะแนนผู้ทำผิดกติกา ผู้ชี้ขาดต้องสั่งให้นักมวยหยุดการแข่งขันแล้วจึงตัดคะแนนผู้ทำกติกาอย่างชัดเจน เพื่อให้นักมวยเข้าใจเหตุและความมุ่งหมายของการตัดคะแนนนั้น ผู้ชี้ขาดต้องให้สัญญาณมือและชี้ตัวนักมวยให้ผู้ให้คะแนนทุกคนทราบว่าได้มีการตัดคะแนน กรณีที่นักมวยถูกตัดคะแนนถึง ๓ ครั้ง ผู้ชี้ขาดต้องสั่งให้นักมวยที่ถูกตัดคะแนน ถูกปรับให้เป็นฝ่ายแพ้หรือไม่มีการตัดสิน หากเป็นการกระทำผิดกติกาที่ร้ายแรงผู้ชี้ขาดอาจปรับนักมวยผู้นั้นเป็นฝ่ายแพ้หรือไม่มีการตัดสิน โดยไม่เคยถูกตัดคะแนนมาก่อน

๑๐.๒.๑๑ ผู้ชี้ขาดอาจเตือนนักมวย เพื่อให้ระมัดระวัง หรือป้องกันไม่ให้กระทำในสิ่งที่เป็นการทำผิดกติกา

๑๐.๒.๑๒ การนับนักมวยที่ออกนอกสังเวียน

๑๐.๒.๑๒.๑ เมื่อนักมวยถูกคู่แข่งขันกระทำด้วยอาวุธมวยไทยเป็นผลให้นอกสังเวียนให้ผู้ชี้ขาดเริ่มนับ พร้อมกับสั่งให้คู่แข่งขันไปอยู่มุมกลางที่ไกลที่สุด

๑๐.๒.๑๒.๒ การนับนักมวยตกเวทีให้ผู้ชี้ขาดนับถึงยี่สิบ

๑๐.๒.๑๒.๒.๑ เมื่อนักมวยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตกจากเวทีให้ผู้ชี้ขาดนับถึง “ยี่สิบ” ถ้านักมวยกลับเข้ามาภายในสังเวียนก่อนการนับถึง “ยี่สิบ” ให้ทำการแข่งขันต่อไปและไม่เสียคะแนน

๑๐.๒.๑๒.๒.๒ เมื่อนักมวยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกจากเวที ถ้าถูกขัดขวางและหน่วงเหนี่ยวจากบุคคลใดๆ ไม่ให้ขึ้นเวทีให้ผู้ชี้ขาดหยุดนับ และตักเตือนให้ชัดเจนแล้วจึงนับต่อไป ถ้าผู้ขัดขวางไม่เชื่อฟัง ให้หยุดการแข่งขันแล้วแจ้งประธานผู้ตัดสิน

๑๐.๒.๑๒.๒.๓ เมื่อนักมวยทั้งสองฝ่ายตกจากเวที ให้ผู้ชี้ขาดเริ่มนับ หากนักมวยฝ่ายใดหนึ่งพยายามหน่วงเหนี่ยวให้หยุดการนับและเตือนให้ชัดเจนแล้วจึงเริ่มนับต่อ ถ้านักมวยผู้หน่วงเหนี่ยวไม่เชื่อฟังให้ปรับนักมวยผู้นั้นเป็นฝ่ายแพ้ หรือไม่มีการตัดสิน

๑๐.๒.๑๒.๒.๔ เมื่อนักมวยทั้งสองฝ่ายตกจากเวที ให้ผู้ชี้ขาดเริ่มนับ
เมื่อนักมวยฝ่ายใดกลับเข้ามาภายในสังเวียนก่อนการนับถึงยี่สิบสิ้นสุดลง ให้นักมวยฝ่ายนั้นเป็นผู้ชนะ แต่ถ้านักมวยทั้งสองฝ่ายไม่กลับเข้ามาภายในสังเวียนเมื่อการนับถึงยี่สิบสิ้นสุดลง ให้ตัดสินเป็นเสมอกัน

๑๐.๒.๑๓ ตีความในกติกาที่ใช้บังคับตามข้อเท็จจริง หรือตัดสิน หรือปฏิบัติ ในเรื่องที่ไม่มีบัญญติไว้ในกติกา

กติกาข้อที่ ๑๑ ผู้ให้คะแนน

ผู้ให้คะแนนต้องแต่งกายเช่นเดียวกับผู้ชี้ขาด ขออนุญาตให้สวมแว่นสายตาขณะปฏิบัติหน้าที่ให้คะแนนได้ ผู้ให้คะแนนมี ๓ คน ต่ละคนต้องนั่งอยู่คนละด้านของเวทีและมีระยะห่างจากผู้ชมในระหว่างการแข่งขัน ผู้ให้คะแนนต้องไม่พูดกับนักมวยหรือผู้อื่นใด ถ้าจำเป็นให้พูดกับผู้ชี้ขาดได้ในเวลาหยุดพักระหว่างยก เพื่อแจ้งให้ผู้ชี้ขาดทราบว่ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น เช่น พี่เลี้ยงปฏิบัติผิดมารยาท เชือกหย่อน เป็นต้น
หน้าที่ผู้ให้คะแนน

๑๑.๑ ผู้ให้คะแนนต้องให้คะแนนโดยอิสระ และเป็นไปตามกติกาบันทึกคะแนนลงในบันทึกคะแนนทันทีที่สิ้นสุดการแข่งขันในแต่ละยก รวมคะแนนแต่ละยกของนักมวยทั้งคู่ระบุผลการแข่งขันพร้อมลงลายมือชื่อของตนในใบบันทึกคะแนนก่อนส่งให้กับผู้ชี้ขาด

๑๑.๒ ผู้ให้คะแนนต้องไม่ลุกออกจากที่นั่งจนกว่าผู้ชี้ขาดตัดสินผลการแข่งขันแล้ว

๑๑.๓ ผู้ให้คะแนนต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์ หรือให้สัมภาษณ์ถึงผลการแข่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วก็ตาม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากประธานผู้ตัดสิน

กติกาข้อที่ ๑๒ ประธานผู้ตัดสิน

๑๒.๑ หน้าที่ของประธานผู้ตัดสิน

๑๒.๑.๑ จัดผู้ชี้ขาด ผู้ให้คะแนน ให้ปฏิบัติหน้าที่ในรายการแข่งขัน

๑๒.๑.๒ ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ชี้ขาด ผู้ให้คะแนน ให้เป็นไปตามระเบียบ และกติกา

๑๒.๑.๓ พิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ชี้ขาด ผู้ให้คะแนน หากผู้ชี้ขาดหรือผู้ให้คะแนนคนใดปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีประสิทธิภาพ ต้องรายงานให้นายสนามมวยทราบ

๑๒.๑.๔ แก้ปัญหาอันเกิดจากการแข่งขัน และรายงานให้นายสนามมวยทราบ

๑๒.๑.๕ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ชี้ขาด และผู้ให้คะแนนในเรื่องที่ต้องตัดสินใจ

๑๒.๑.๖ ตรวจสอบใบบันทึกคะแนนทั้งหมด เพื่อดูว่าชื่อนักมวยถูกต้อง การรวมคะแนนถูกต้อง ระบุผลการแข่งขันถูกต้อง ผู้ให้คะแนนได้ลงลายมือชื่อในบันทึกคะแนนแล้ว และเมื่อตรวจสอบแล้ว แจ้งผลให้ผู้ประกาศให้ผู้ชมทราบ

๑๒.๑.๗ แจ้งนายสนามมวยเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการกีฬามวย กรณีที่นักมวยกระทำความผิดอย่างร้ายแรง ขัดต่อจรรยาบรรณและความเป็นผู้มีน้ำใจนักกีฬา

๑๒.๑.๘ กรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ จนผู้ชี้ขาด ผู้ให้คะแนนและผู้รวมคะแนน ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ประธานผู้ตัดสินอาจปฏิบัติการอย่างใดโดยฉับพลัน เพื่อให้การแข่งขันดำเนินต่อไปได้

๑๒.๒ อำนาจประธานผู้ตัดสิน

๑๒.๒.๑ เมื่อผู้ชี้ขาดปฏิบัติหน้าที่หรือมีคำตัดสินขัดกับกติกา

๑๒.๒.๒ เมื่อผู้ให้คะแนน ผู้รวมคะแนน รวมคะแนนผิด ซึ่งมีผลทำให้คำตัดสินผิดจากข้อเท็จจริง

กติกาข้อที่ ๑๓ ผู้รักษาเวลา และผู้ประกาศ

ผู้รักษาเวลาและผู้ประกาศต้องนั่งอยู่ข้างเวทีตามตำแหน่งที่กำหนดและมีข้อปฏิบัติดังนี้

๑๓.๑ หน้าที่ผู้รักษาเวลา รักษาจำนวนยก และเวลาแข่งขันของแต่ละยก เวลาหยุดพักระหว่างยก และ เวลานอก

๑๓.๑.๑ ให้สัญญาณเริ่มยกและหมดยกด้วยการตีระฆัง

๑๓.๑.๒ ให้สัญญาณ ๕ วินาทีก่อนเริ่มการแข่งขันแต่ละยก เพื่อเตรียมสังเวียนให้ว่าง

๑๓.๑.๓ หักเวลาออกสำหรับการหยุดชั่วคราว หรือเมื่อผู้ชี้ขาดสั่งให้หยุดเวลา

๑๓.๑.๔ รักษาเวลาให้ถูกต้องทุกระยะ ด้วยนาฬิกาพก หรือนาฬิกาตั้งโต๊ะ

๑๓.๑.๕ ไม่ให้สัญญาณระฆัง ในขณะที่ผู้ชี้ขาดกำลังนับ แม้เวลาแข่งขันในยกนั้นได้สิ้นสุดลง ผู้รักษาเวลาจะให้สัญญาณระฆังเมื่อผู้ชี้ขาดสั่ง “ชก”

๑๓.๒ หน้าที่ผู้ประกาศมีข้อปฏิบัติดังนี้

๑๓.๒.๑ ประกาศชื่อ – สังกัด – มุม – น้ำหนัก ของนักมวยทั้งสองฝ่ายให้ผู้ชมทราบเมื่อนักมวยปรากฏตัวบนเวที

๑๓.๒.๒ ประกาศให้พี่เลี้ยงลงจากเวที เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนจากผู้รักษาเวลา

๑๓.๒.๓ ประกาศเริ่มและสิ้นสุดการแข่งขันแต่ละยก

๑๓.๒.๔ ประกาศคะแนนของนักมวยทั้งสองฝ่ายและระบุผลการตัดสิน

กติกาข้อที่ ๑๔ การตัดสิน มีดังนี้

๑๔.๑ ชนะโดยคะแนน
เมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน นักมวยที่ได้รับคะแนนโดยเสียงข้างมากของผู้ให้คะแนนเป็นผู้ชนะ

๑๔.๒ ชนะโดยน็อกเอาท์
ถ้านักมวย “ล้ม” และไม่สามารถชกต่อไปได้ภายใน ๑๐ วินาที ให้นักมวยฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ชนะโดยน็อกเอาท์

๑๔.๓ ชนะโดยเทคนิเคิลน็อกเอาท์

๑๔.๓.๑ เมื่อนักมวยฝ่ายหนึ่งมีฝีมือเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งมากหรือกระทำอยู่ฝ่ายเดียว จนคู่แข่งขันอาจจะเป้นอันตราย

๑๔.๓.๒ เมื่อนักมวยฝ่ายหนึ่งไม่สามารถที่จะแข่งขันต่อไปได้ทันที ภายหลังที่ได้หยุดพักระหว่างยก

๑๔.๓.๓ เมื่อนักมวยฝ่ายหนึ่งบาดเจ็บไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้

๑๔.๓.๔ เมื่อนักมวยฝ่ายหนึ่งถูกนับเกิน ๒ ครั้งในยกเดียวกัน หรือเกิน ๔ ครั้ง ตลอดการแข่งขัน

๑๔.๓.๕ เมื่อนักมวยฝ่ายหนึ่งตกเวที และผู้ชี้บาดนับถึง “ยี่สิบ” แล้วไม่สามารถกลับเข้ามาในสังเวียนได้

๑๔.๓.๖ เมื่อนักมวยฝ่ายหนึ่งถอนตัวออกจากการแข่งขันด้วยความสมัครใจเนื่องจากการบาดเจ็บหรือเหตุอื่น

๑๔.๔ ชนะโดยคู่แข่งขันถูกปรับให้แพ้
เมื่อนักฝ่ายหนึ่งกระทำผิดกติกาอย่างร้ายแรง ซึ่งผู้ชี้ขาดปรับให้นักมวยฝ่ายนั้น เป็นฝ่ายแพ้ โดยมีการเตือน หรือไม่มีการเตือน หรือไม่มีการตัดคะแนนมาก่อน

๑๔.๕ ชนะผ่าน
ในกรณีที่นักมวยฝ่ายหนึ่งไม่ผ่านการตรวจของแพทย์สนาม ไม่ผ่านการชั่งน้ำหนักหรือไม่มาทำการแข่งขันตามรายการ

๑๔.๖ การตัดสินเสมอ

๑๔.๖.๑ เมื่อผลการให้คะแนนของผู้ให้คะแนนส่วนใหญ่เสมอกัน

๑๔.๖.๒ เมื่อนักมวยทั้งคู่ “ล้ม” และถูกนับถึงสิบ

๑๔.๖.๓ เมื่อนักมวยคู่ตกจากเวทีและถูกนับถึงยี่สิบ

๑๔.๖.๔ เมื่อนักมวยทั้งคู่ได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถที่จะทำการแข่งขันต่อไปได้

๑๔.๗ ไม่มีการตัดสิน
เมื่อผู้ชี้ขาดเห็นว่านักมวยฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย “ชกไม่สมศักดิ์ศรี” ให้ยุติการแข่งขันโดยประกาศว่า “มวยคู่นี้ไม่มีการตัดสิน เนื่องจาก (ฝ่ายแดง ฝ่ายน้ำเงิน หรือทั้งสองฝ่าย) ชกไม่สมศักดิ์ศรี”

๑๔.๘ ไม่มีการแข่งขัน
ในกรณีที่นักมวยไม่ชกกัน ผู้ชี้ขาดได้เตือนและตัดคะแนนแล้ว ยังไม่ชกกัน ให้ยุติการแข่งขันและให้ประกาศว่า “มวยคู่นี้ไม่มีการแข่งขัน เนื่องจากนักมวยทั้งสองฝ่ายไม่ชกกัน”

๑๔.๙ ยกเลิกการแข่งขัน
ในกรณีที่เวทีเกิดความเสียหาย ผู้ชมไม่อยู่ในความสงบหรือเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง จนไม่สามารถที่จะแข่งขันต่อไปได้ ให้ยุติการแข่งขันและให้ประกาศว่า “มวยคู่นี้ยกเลิกการแข่งขัน”

กติกาข้อที่ ๑๕ การให้คะแนนต้องให้ตามหลักเกณฑ์ดังนี้

ก๑๕.๑ เมื่อนักมวยได้ใช้หมัด เท้า เข้า ศอก เป็นอาวุธมวยไทยกระทำถูกร่างกายผู้แข่งขันโดยถูกต้องตามกติกา มีแรงส่ง ถูกเป้าหมายและคู่แข่งขันไม่สามารถป้องกันได้

๑๕.๑.๑ การได้คะแนน มีดังนี้

๑๕.๑.๑.๑ นักมวยที่ใช้อาวุธมวยไทย กระทำถูกคู่แข่งขันได้มากกว่าเป็นผู้ชนะในยกนั้น

๑๕.๑.๑.๒ นักมวยที่ใช้อาวุธมวยไทย กระทำถูกคู่แข่งขันได้หนักหน่วง รุนแรง ชัดเจนกว่าเป็นผู้ชนะในยกนั้น

๑๕.๑.๑.๓ นักมวยที่ใช้อาวุธมวยไทย กระทำถูกผู้แข่งขันจนเกิดความบอบช้ำมากกว่า เป็นผู้ชนะในยกนั้น

๑๕.๑.๑.๔ นักมวยที่เป็นฝ่ายรุกเข้ากระทำมากกว่า เป็นผู้ชนะในยกนั้น

๑๕.๑.๑.๕ นักมวยที่มีชั้นเชิงในการรุก รับ หลบหลีก ตอบโต้ ตามลักษณะ และศิลปะมวยไทยได้ดีกว่า เป็นผู้ชนะในยกนั้น

๑๕.๑.๑.๖ นักมวยที่กระทำผิดกติกาน้อยกว่า เป็นผู้ชนะในยกนั้น

๑๕.๑.๒ การไม่ได้คะแนนมีดังนี้

๑๕.๑.๒.๑ นักมวยกระทำผิดกติกาข้อใดข้อหนึ่ง

๑๕.๑.๒.๒ กระทำถูกแขนขาของคู่แข่งขัน ในลักษณะการป้องกันตัว

๑๕.๑.๒.๓ กระทำถูกคู่แข่งขันแต่เบา ไม่มีน้ำหนักส่งจากร่างกาย

๑๕.๑.๒.๔ เตะไปแล้วถูกฝ่ายตรงข้ามจับขาเหวี่ยงลงกับพื้นให้ถือว่าฝ่ายที่เตะได้คะแนน ถ้าฝ่ายที่เตะแกล้งทิ้งตัวลงกับพื้นถือเป็นการกระทำผิดกติกาในกรณีนี้ถือว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ได้คะแนน

๑๕.๑.๒.๕ การเหวี่ยงคู่แข่งขันให้ล้มลงโดยไม่ได้ใช้อาวุธอื่นๆ

๑๕.๒ การให้คะแนน

๑๕.๒.๑ ให้คะแนนเต็ม ๑๐ คะแนน สำหรับผู้ชนะในยก และให้คู่แข่งขันลดลงไปตามส่วน คือ
๙ – ๘ – ๗ และ ๖ โดยไม่มีการให้คะแนนเป็นเศษส่วน

๑๕.๒.๒ ในยกที่เสมอกันได้ฝ่ายละ ๑๐ คะแนน (๑๐:๑๐)

๑๕.๒.๓ ผู้ชนะในยกได้ ๑๐ คะแนน ผู้แพ้ได้ ๙ คะแนน (๑๐:๙)

๑๕.๒.๔ ผู้ชนะอย่างมากในยกได้ ๑๐ คะแนน ผู้แพ้ได้ ๘ คะแนน (๑๐:๘)

๑๕.๒.๕ ผู้ชนะในยกและคู่แข่งขันถูกนับ ๑ ครั้ง ได้ ๑๐ คะแนน ผู้แพ้ได้ ๘ คะแนน (๑๐:๘)

๑๕.๒.๖ ผู้ชนะอย่างมากในยกและคู่แข่งขันถูกนับ ๑ ครั้งได ๑๐ คะแนน ผู้แพ้ได้ ๗ คะแนน (๑๐:๗)

๑๕.๒.๗ ผู้ชนะในยก และคู่แข่งขันถูกนับ ๒ ครั้ง ได้ ๑๐ คะแนน ผู้แพ้ได้ ๗ คะแนน (๑๐:๗)

๑๕.๒.๘ ผู้ชนะอย่างมากในยกและคู่แข่งขันถูกนับ ๒ ครั้ง ได้ ๑๐ คะแนน ผู้แพ้ได้ ๖ คะแนน
(๑๐:๖)

๑๕.๒.๙ นักมวยที่ถูกตัดคะแนน ต้องไม่ได้คะแนนเต็มในยกนั้น ให้ผู้ชี้ขาดตัดคะแนนได้ครั้งละ ๑ คะแนน

กติกาข้อที่ ๑๖ การกระทำที่ผิดกติกา นักมวยที่กระทำดังต่อไปนี้ ถือว่าผิดกติกา

๑๖.๑ กัด ทิ่มลูกนัยน์ตา ถ่มน้ำลายรดคู่แข่งขัน แลบลิ้นหลอก ใช้ศีรษะหรือโขก

๑๖.๒ ทุ่ม ดัดหลัง ล็อคแขนคู่แข่งขัน ใช้ท่ายูโด และมวยปล้ำ

๑๖.๓ ล้มทับหรือซ้ำเติมคู่แข่งขันที่ล้ม หรือกำลังลุกขึ้น

๑๖.๔ จับเชือกเพื่อชก หรือหาประโยชน์อย่างอื่น

๑๖.๕ ใช้กริยาวาจาไม่เหมาะสมในการแข่งขัน

๑๖.๖ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ชี้ขาด

๑๖.๗ ใช้เข่าตีกระจับของคู่แข่งขัน เช่น จับคอตีเข่าที่กระจับ แทงเข่าที่กระจับ หรือโยนเข่าที่กระจับ ให้ผู้ชี้ขาดปฏิบัติดังต่อไปนี้

๑๖.๗.๑ นักมวยที่ถูกเข่าที่กระจับไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ ตัดสินให้นักมวยที่เป็นฝ่ายตีเข่าที่กระจับแพ้โดยถูกปรับให้แพ้หรือไม่มีการตัดสิน

๑๖.๗.๒ นักมวยที่ถูกเข่าที่กระจับให้พักได้ครั้งละไม่เกิน ๕ นาที เมื่อครบเวลาพัก ไม่ออกมาทำการแข่งขันให้ตัดสินเป็นแพ้หรือไม่มีการตัดสิน

๑๖.๗.๓ นักมวยที่ถูกเข่าที่กระจับสามารถแข่งขันต่อไปได้ ให้ผู้ชี้ขาดเตือนหรือตัดคะแนนนักมวยที่เป็นฝ่ายตีเข่าที่กระจับ

๑๖.๘ จับขาคู่แข่งแล้วเดินไปข้างหน้าเกิน ๒ ก้าว โดยไม่ได้ใช้อาวุธใดๆ ให้ผู้ชี้ขาดสั่งหยุดและเตือน หากได้เตือนแล้ว ๒ ครั้ง ให้ผู้ชี้ขาดสั่งตัดคะแนน

๑๖.๙ นักมวยที่เตะแล้วแล้วถูกฝ่ายตรงข้ามจับขาได้ แกล้งทิ้งตัวลงกับพื้นถือว่าเอาเปรียบคู่แข่งขัน ให้ผู้ชี้ขาดเตือน ถ้ากระทำผิดอีกและผู้ชี้ขาดได้เตือนแล้ว ๒ ครั้ง ให้ผู้ชี้ขาดสั่งตัดคะแนนผู้กระทำผิด

๑๖.๑๐ เมื่อนักมวยทั้งสองฝ่ายตกจากเวที หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามหน่วงเหนี่ยว

๑๖.๑๑ ใช้สารต้องห้ามตามที่คณะกรรมการฝ่ายแพทย์ของคณะกรรมการกีฬามวยกำหนดไว้

๑๖.๑๒ การละเมิดกติกาข้อใดข้อหนึ่ง

กติกาข้อที่ ๑๗ ล้ม

๑๗.๑ การ “ล้ม” หมายถึง ถูก หมัด เข่า ศอกของคู่แข่งขันทำให้

๑๗.๑.๑ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายนอกจากเท้าถูกพื้นเวที

๑๗.๑.๒ ยืน พับ พิง หรือนั่งอยู่บนเชือก

๑๗.๑.๓ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือทั้งตัวออกไปนอกสังเวียน

๑๗.๑.๔ ถูกกระทำอย่างหนัก แต่ยังไม่ “ล้ม” และอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้

๑๗.๒ ข้อปฏิบัติเมื่อมีการ “ล้ม”

๑๗.๒.๑ กรณีที่มีนักมวย “ล้ม” ต้องให้เวลาผ่านไป ๑ วินาที ผู้ชี้ขาดจึงเริ่มนับโดยต้องนับดังๆ จาก ๑ ถึง ๑๐ เว้นระยะ ๑ วินาที และต้องแสดงสัญญาณมือในการนับ เพื่อให้นักมวยที่ล้มทราบการนับ พร้อมกับสั่งให้คู่แข่งขันเข้าไปอยู่ที่มุมกลางที่ไกลที่สุดทันที ถ้าคู่แข่งขันไม่ยอมทำตามคำสั่ง ผู้ชี้ขาดต้องหยุดนับจนกว่าผู้นั้นจะปฏิบัติตามแล้วจึงนับต่อไปจากที่ได้นับแล้วเมื่อผู้ “ล้ม” ลุกขึ้นและพร้อมจะแข่งขันผู้ชี้ขาดจึงสั่งให้ชกต่อไปได้

๑๗.๒.๒ กรณีที่นักมวยผู้ “ล้ม” ลุกขึ้นได้ก่อนผู้ชี้ขาดนับถึง “สิบ” และพร้อมที่จะแข่งขันต่อไป แต่ถ้ายังนับไม่ถึง “แปด” ผู้ชี้ขาดจะต้องนับต่อไปจนถึง “แปด” ก่อนดำเนินการแข่งขันต่อไป

๑๗.๒.๓ ถ้านักมวยผู้ “ล้ม” พร้อมที่จะแข่งขันต่อไปได้ก่อนนับถึง “สิบ” แต่กลับล้มลงไปโดยมิได้ถูกกระทำอีกให้ผู้ชี้ขาดนับต่อไปจากที่นับมาแล้ว

๑๗.๒.๔ กรณีผู้ชี้ขาดได้นับถึง “สิบ” แล้วให้ถือว่ากันการแข่งขันได้สิ้นสุดลง และตัดสินให้ผู้ที่ล้มนั้นแพ้ “น็อกเอาท์”

๑๗.๒.๕ กรณีที่นักมวย “ล้ม” พร้อมกันทั้งสองคน ให้ผู้ชี้ขาดนับต่อไปตลอดเวลาที่มีนักมวยฝ่ายหนึ่ง “ล้ม” อยู่ ถ้านักมวยทั้งสองฝ่ายยัง “ล้ม” จนกระทั่งนับถึง “สิบ” ให้ตัดสิน “เสมอกัน” กรณีที่นักมวย “ล้ม” ทั้งคู่และแขนหรือขาทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกัน หรือทับกัน โดยที่นักมวยทั้งคู่พยายามลุกขึ้น ผู้ชี้ขาดต้องหยุดนับ แล้วแยกนักมวยทั้งสองออกจากกัน แล้วจึงนับต่อไปหากยังมีผู้ “ล้ม” อยู่

๑๗.๒.๖ กรณีที่นักมวยผู้ใดไม่พร้อมแข่งขันต่อไปได้ทันที ภายหลังที่หยุดเวลาพักระหว่างยกหมดไปแล้ว ผู้ชี้ขาดต้องนับ เว้นแต่เครื่องแต่งกายไม่เรียบร้อย หรือพื้นเวที สังเวียนไม่พร้อมสำหรับการแข่งขัน เป็นต้น

กติกาข้อที่ ๑๘ การจับมือ

ให้นักมวยจับมือกันก่อนเริ่มการแข่งขันในยกที่ ๑ และก่อนเริ่มการแข่งขันยกสุดท้าย เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่าจะแข่งขันกันอย่างนักกีฬาตามกติกาการแข่งขัน

กติกาข้อที่ ๑๙ แพทย์สนาม

หน้าที่แพทย์สนาม ต้องอยู่ประจำการแข่งขัน ณ ที่ที่จัดไว้จนกว่าการแข่งขันคู่สุดท้ายสิ้นสุดลง และมีหน้าที่ ดังนี้

๑๙.๑ ตรวจร่างกายนักมวยก่อนการชั่งน้ำหนัก เพื่อพิสูจน์ว่านักมวยมีความแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคหรือการเจ็บป่วยที่เป็นข้อห้ามตามที่ระบุในประกาศคู่มือแพทย์ของคณะกรรมการกีฬามวย

๑๙.๒ ให้คำแนะนำผู้ชี้ขาด เมื่อได้รับการร้องขอ

๑๙.๓ ให้การช่วยเหลือนักมวยที่หมดสติจากการแข่งขัน ให้แพทย์เท่านั้นเข้าไปในสังเวียน ผู้อื่นอาจจะเข้าไปในสังเวียนได้ ถ้าแพทย์ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

๑๙.๔ ให้การช่วยเหลือทางการแพทย์แก่นักมวยที่ถูก น็อกเอาท์ หรือ เทคนิเคิลน็อกเอาท์ โดยการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และให้การพยาบาลรักษาทันที

๑๙.๕ ตรวจร่างกายและวินิจฉัยนักมวยหลังการแข่งขัน เพื่อแจ้งระยะเวลาพักฟื้นก่อนการแข่งขันครั้งต่อไปตามข้อกำหนดดังนี้

๑๙.๕.๑ ภายหลังการแข่งขันครบ ๕ ยก นักมวยต้องหยุดพักร่างกายก่อนการแข็งขันครั้งต่อไปไม่น้อยกว่า ๒๑ วัน

๑๙.๕.๒ นักมวยผู้ชนะภายใน ๑ ยก ต้องหยุดพักร่างกายไม่น้อยกว่า ๗ วัน

๑๙.๕.๓ นักมวยผู้ชนะภายใน ๓ ยก ต้องหยุดพักร่างกายไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน

๑๙.๕.๔ นักมวยที่แพ้น็อกเอาท์หรือเทคนิเคิลน็อกเอาท์ ต้องหยุดพักร่างกายไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน กรณีนักมวยแพ้น็อกเอาท์หรือเทคนิเคิลน็อกเอาท์ โดยถูกกระทำที่ศีรษะ ๒ ครั้งติดต่อกัน ต้องหยุดพักร่างกายไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน และได้รับการรับรองจากแพทย์จึงจะทำการแข่งขันได้

๑๙.๕.๕ ภายหลังจากการพักฟื้น นักมวยต้องได้รับการรับรองจากแพทย์จึงจะทำการแข่งขันได้

กติกาข้อที่ ๒๐ ยาหรือสารต้องห้าม

๒๐.๑ การจัดให้นักมวยใช้ยา หรือสารเคมีใดๆ ที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นอาหารที่รับประทานตามปกติของนักมวย ถือเป็นการกระทำที่ต้องห้าม

๒๐.๒ สารต้องห้ามต่างๆ ในนักมวยให้เป็นไปตามคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ของคณะกรรมการกีฬามวยประกาศกำหนด

๒๐.๓ นักมวยที่ใช้สารต้องห้าม หรือผู้ที่นำสารต้องห้ามให้นักมวยเสพหรือใช้ ต้องถูกพิจารณาโทษตามกฎหมาย

๒๐.๔ นักมวยหรือเจ้าหน้าที่ ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามการใช้สารต้องห้าม ต้องถูกลงโทษไม่ให้แข่งขัน หรือห้ามเข้าร่วมการแข่งขัน

๒๐.๕ นักมวยที่ไม่เข้ารับการตรวจทางการแพทย์ ภายหลังการแข่งขันสิ้นสุดลงซึ่งเป็นการกระทำผิดกติกานี้ นักมวยผู้นั้นจะถูกห้ามแข่งขันตลอดไป ส่วนเจ้าหน้าที่ที่สนับสนุนให้นักมวยกระทำผิดดังกล่าว จะถูกลงโทษห้ามเข้าร่วมการแข่งขันเช่นเดียวกัน

กติกาข้อที่ ๒๑ การตีความ

ในกรณีที่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นในการแข่งขันหรืออันเนื่องมาจากการแข่งขัน ซึ่งไม่ได้กำหนดไว้ในกติกานี้ ให้ผู้ชี้ขาดหรือประธานผู้ตัดสินเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด